วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กว่าจะปัสสาวะเป็น ใช้เวลาถึงสองชั่วคน

ข่าวเรื่อง “ปัสสาวะ” ที่สิงคโปร์ เป็นข่าวเล็กๆ จากสำนักข่าวเอพี แต่ นสพ. “บางกอกโพสต์” ของเมืองไทยเราเห็นว่าเป็นข่าวใหญ่ ให้ความสำคัญนำลงเป็นข่าวหน้าหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 พ.ย. นี้เอง

ผมเห็นด้วยกับบางกอกโพสต์ว่าเป็นข่าวใหญ่ ขอแสดงความนับถือเป็นส่วนตัวต่อบางกอก-โพสต์ ที่มีตาแหลมคม มองลึกไปเห็นอย่างกระจ่างแจ้งว่า เรื่องของการปัสสาวะนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องใหญ่ที่ชี้ให้เห็นถึงหน้าตาของประเทศว่าได้ “เจริญ” ขึ้นมากน้อยแล้วเพียงไร

สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดระดับโลกเกี่ยวกับการใช้ส้วม “THE INAUGURAL WORLD TOILET SUMMIT” ในวันที่ 19-21 พ.ย. นี้ และหัวข้อใหญ่ของการประชุมสุดยอดคราวนี้ก็คือ “การสร้างวัฒนธรรมการใช้ส้วม” ของโลก

ถ้าใครเคยติดตามความเป็นไปของการสร้างตัวอยู่บ้าง ก็คงจะจำได้ว่า ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ ได้ใช้เวลาสร้างประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ยังเป็นประเทศเล็กๆยากจน จนกระทั่งกลายเป็นประเทศที่มั่งคั่งและเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในเอเชียขณะนี้ ลี กวน ยู และโก๊ะ จก ตง นายกรัฐมนตรีคนต่อมาต้องใช้เวลาถึง 40 ปี

และเชื่อหรือไม่ว่า สร้างประเทศขึ้นมาจนมั่งคั่งรํ่ารวยได้สำเร็จนั้น ต้องสร้างขึ้นมาบนรากฐานแห่ง “วัฒนธรรมการใช้ส้วม”

40 ปีก่อน เมื่อหลุดพ้นจากการปกครองของอังกฤษใหม่ๆ สิงคโปร์ยังยากจนและสกปรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณถิ่นคนจน ซึ่งเป็นถิ่นค้าขายนั้นเต็มไปด้วยเศษขยะ และกลิ่นปัสสาวะคลุ้งไปหมด

สมัยนั้นชาวบ้านยังปัสสาวะกันตามข้างถนน ซอกตึกและแถวกองขยะ

สิงคโปร์เป็นเกาะ นํ้าทะเลล้อมรอบ ประชาชนกินปลาและอาหารทะเลกันทุกคน ตามถนนและโดยเฉพาะแถวตลาดและริมนํ้า จะมีรถเข็นขายปลา ปู กุ้ง จอดเรียงรายเต็มไปหมด เปลือกกุ้ง หอย ปู ปลา เมื่อกินกันแล้วก็จะทิ้งกองอยู่ข้างถนน ตอนดึกๆหรือแม้แต่ยังหัวคํ่าอยู่ ทั้งคนกิน คนขายอาหารก็จะปัสสาวะกันแถวนั้น กลิ่นเศษอาหารทะเลผสมกับกลิ่นปัสสาวะนั้นน่าดูชมเพียงไร คงจะนึกออก และนิสัยเสียสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการถ่มนํ้าลาย ขากเสลด ทำกันทั่วเมือง และทำกันแทบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบนสถานที่ราชการหรือท้องถนน หรือ แม้กระทั่งในบ้านเรือน ของตนเอง

ลี กวน ยู ตัดสินใจว่า จะฟื้นฟูบ้านเมืองให้เจริญ ต้องแก้ไขนิสัยเสียๆเกี่ยวกับการถ่มนํ้าลาย ขากเสลด และปัสสาวะเปะปะให้ได้เสียก่อน

เขาออกกฎหมายห้ามขากเสลด ห้ามปัสสาวะเปะปะ ห้ามทิ้งของสกปรก ห้ามประชาชนปล่อย ปละละเลยบ้านช่อง ปล่อยให้มีนํ้าเสียนํ้าเน่าเป็นแหล่งเพาะยุงเด็ดขาด

เขาเริ่มเข้มงวดกับแหล่งเล็กๆ แต่เป็นตัวอย่างเสียๆ ที่เห็นชัดก่อน คือ แหล่งรถเข็นขายอาหาร เขาจับและปรับทั้งคนกินและคนขาย

คนกินนั้นแน่นอน กินหอย ปู ปลาแล้วก็ทิ้งเปลือก ทิ้งเศษอาหารลงข้างรถเข็น-ใต้โต๊ะ เก้าอี้ ข้างถนน เขาให้ตำรวจจับและปรับทันที

ต่อมาคนขายเจ้าของรถเข็น จะทิ้งเศษอาหารหรือขยะ ซึ่งถึงแม้จะใส่ตะกร้าหรือกระสอบ แต่ก็เอาไปทิ้งไม่เป็นที่ โดนจับและปรับเหมือนกัน

ต่อมาพวกคนขายของหัวดี กวาดขยะเศษอาหารออกไปกองไว้ไกลๆ เจ้าหน้าที่มาถามว่าเศษอาหารของใคร ตอบว่าของคนกิน คนกินอยู่ที่ไหน ไม่ทราบ กินแล้วไปแล้ว

เจ้าหน้าที่ตัดสินว่า คนขายต้องรับผิดชอบ จับตัวไปปรับทันทีอีกเหมือนกัน

แก้ปัญหาเรื่องทิ้งขยะและเศษอาหารเป็นเรื่องยากพอสมควร แต่รัฐบาล ลี กวน ยู ตั้งใจแก้ไขและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ก็พอแก้ไขได้ในเวลาไม่มากนัก

แต่ปัญหาเรื่องขากเสลด เรื่องปัสสาวะไม่เป็นที่เป็นทาง เรื่องนี้สิยาก เพราะคนทำสกปรกแบบนี้ทั่วเมือง และทำเป็นนิสัย จะไปนั่งคอยจับและปรับอย่างไรไหว

เรื่องนี้ ลี กวน ยู ทำสามอย่างไปพร้อมๆ กัน

ประการแรก ก็คือระดมเจ้าหน้าที่ทั่วเมืองคอยจับตาดูว่าใครทำผิด ใครถ่มนํ้าลาย ขากเสลด ใครปัสสาวะไม่เป็นที่ ใครทิ้งขยะตามใจชอบ ถ้าเจอะเมื่อไหร่ ก็ให้จับและปรับทันที การกระทำเช่นนี้ ความสำเร็จขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความเด็ดขาด ไม่มีการประนีประนอม และแน่นอน ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตแน่ งานนี้สำเร็จอย่างงดงาม และโชคดีที่ ลี กวน ยู มีเจ้าหน้าที่ที่ดี มีความเข้มงวดเด็ดขาด และไม่โกง

ประการที่สอง ลี กวน ยู ต้องช่วยให้ความสะดวกประชาชน แก้ความคับขัน และไม่สะดวกของประชาชน พร้อมกันไปด้วย นั่นก็คือการจัดหาอุปกรณ์ความสะดวกไว้ให้พร้อม จัดหาอุปกรณ์การเก็บขยะ ที่รับขยะที่สะดวก สะอาดและปลอดภัย จัดหาส้วมสาธารณะที่สะอาดและได้มาตรฐาน และก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลสถานที่ ที่ทางการจัดไว้ให้เรียบร้อยทุกอย่างด้วย

เรื่องการดูแลนี้ผมจำได้ว่า เมื่อมีส้วมสาธารณะ ใหม่ๆ เจ้าหน้าที่จะคอยไปควบคุม และแนะนำประชาชนที่เข้าไปใช้บริการว่าต้องชักโครกทำความสะอาด และต้องล้างมือ

เมื่อแนะนำแล้วก็ต้องควบคุมและปรับผู้ฝ่าฝืนและกระทำผิด ผมจำได้ว่าเห็นเจ้าหน้าที่ คอยไปเตร็ดเตร่อยู่หน้าห้องส้วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องส้วมบริเวณสนามบิน ใครเข้าส้วมแล้วเดินออกมาเฉยๆ ไม่ได้ยินเสียงนํ้าชักโครก หรือไม่ได้ยินเสียงนํ้าล้างมือ จะมีเจ้าหน้าที่ยืนอยู่หน้าห้องส้วม ชี้มือ ให้กลับเข้าไปดึงชักโครก และล้างมือให้สะอาด ถ้ายังขัดขืนอยู่ก็โดนปรับทันที และปรับอย่างแพงหูฉี่ด้วย คิดเป็นเงินไทย ก็เป็นหมื่นๆบาท

ประการที่สาม ที่สำคัญและ ต้อง ทำไปพร้อมๆกันก็คือ การโฆษณา-ชักชวน-ชี้แจง ให้ ประชาชนทราบและเข้าใจเรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เรื่องนี้เป็นเรื่องยากที่สุดของโครงการสร้างความสะอาดให้แก่บ้านเมือง การจะบังคับจับผู้ฝ่าฝืนไปลงโทษแต่ฝ่ายเดียวย่อมไม่ได้ผล เพราะสิ่งใดก็ตามถ้าประพฤติอยู่จนเป็นนิสัยแล้ว จะแก้ด้วยการปรับการจับลงโทษย่อมไม่ได้

การจะแก้ไขนิสัยให้ได้จำต้องอธิบายให้ ประชาชนเข้าใจ และร่วมมือด้วยให้ได้ แล้วจึงควบคู่ไปกับบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

เรื่องนี้รัฐบาล ลี กวน ยู ทำเป็นเรื่องใหญ่ และรัฐบาลต่อมาของ โก๊ะ จก ตง ก็ยังยึดเป็นนโยบายสำคัญ ที่จะต้องโฆษณาชักชวนและชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือต่อไป

ตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ จะเห็นข้อความชักชวนชี้แจงในวิทยุ หนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ตลอดเวลา เมื่อสมัยแรกๆ จะมีการประกาศชื่อผู้กระทำผิด และถูกปรับทางสื่อสารมวลชนตลอดเวลา

แต่เวลานี้การประกาศรายชื่อเรียกได้ว่า เลิกหมดแล้ว เพราะผู้กระทำผิดแทบจะไม่มีเลย ประชาชน เข้าใจและให้ความร่วมมือเต็มที่

น่าสนใจมากก็คือ สิงคโปร์ใช้เวลาประมาณ 20 ปี แก้เศรษฐกิจ ทะนุบำรุงประเทศจนมีฐานะมั่นคง และรํ่ารวย แต่การแก้นิสัยของประชาชน เพื่อร่วมสร้างหน้าตาและความมั่นคงทางจิตใจนั้น ต้องใช้เวลาถึงสองชั่วคน คือ 40 ปี

ผมชอบใจคำกล่าวถึงจุดหมายของการประชุมระดับโลกของสิงคโปร์คราวนี้ก็คือ ต้องการสร้าง “วัฒนธรรมการใช้ส้วม” ของโลกขึ้น

เมื่อท่านอ่านบทความนี้จบลง การประชุมที่สิงคโปร์คงผ่านพ้นไปแล้ว ไม่ทราบเจ้าหน้าที่ของไทยไปร่วมประชุมกับเขาด้วยหรือเปล่า และมีอะไรมาฝากคนไทยจากการประชุมคราวนี้บ้างไหมครับ?



Copy right(c)2000 by Vacharaphol Co.,Ltd.
Viphavadirangsit Rd. Bangkok 10900 Thailand Tel.(662) 272-1030 Fax. (662) 272-1324

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น