วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ปากเหม็น-หัวเหม็น อาจถึงตายได้ (13) ขอคุยแบบสบายๆ

ที่ว่าขอคุยแบบสบายๆ นั้น หมายความว่า จะพยายามเอ่ยถึงเรื่องวิชาการให้น้อยที่สุด

เมื่ออาทิตย์ที่แล้วผมได้เล่าถึงชีวิตของชาวชีวจิตอีกท่านหนึ่งคือ คุณจรูญเดช โตสะอาด ซึ่งทำงานอยู่หน่วยควบคุมมาลาเรียที่อุ้มผางอยู่เป็นเวลาถึง 5 ปี

ชีวิตของคุณจรูญเดชที่อุ้มผางนั้น เป็นชีวิตที่ถูกต้อง เป็นไปตามลักษณะตามความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

ความสำคัญของวิถีชีวิตที่อุ้มผางเริ่มด้วยการมีชีวิตอยู่ท่ามกลางดินฟ้าอากาศที่บริสุทธิ์ อยู่กลางป่าซึ่งดินดี น้ำดี อากาศดี อาหารการกินเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่กินเนื้อสัตว์ใหญ่ กินแต่กุ้ง ปู ปลาเล็กๆ ที่ชาวบ้านหามาขายถูกๆ กินพืชผักธรรมชาติ ที่ออกตามฤดูกาล เห็ดทุกชนิด หน่อไม้บ้างแต่ไม่บ่อย ผลไม้ตามฤดู ส้มโอสีชมพู ออกเปรี้ยวๆ ของชาวบ้าน มะละกอ กะทกรกชาวบ้านขึ้นเองตามต้นไม้ ลูกสีส้มเท่ากับส้มเขียวหวาน นำมาคั้นกับผ้าขาวบาง แล้วดื่มกินเลย เช้าแก้วเย็นแก้ว กินกล้วยน้ำว้าสุกเป็นประจำตอนเย็น งดกินข้าวเย็นจนถึงปัจจุบันนี้ และสิ่งสำคัญซึ่งผมทึ่งมากที่สุดก็คือ คุณจรูญเดชกินข้าวซ้อมมือ เป็นข้าวไร่ของกะเหรี่ยงเป็นประจำทุกวัน

ขอคุยกันถึงข้าวซ้อมมือของกะเหรี่ยงก่อน ท่านที่คุ้นเคยกับชาวป่าชาวเขา คงจะเคยกินข้าวไร่ของชาวกะเหรี่ยงมาแล้ว อร่อยมาก ข้าวเป็นเมล็ดยาวสีขาวคล้ำและสีดำปนกัน เป็นข้าวซ้อมมือ หมายความว่าเมื่อเกี่ยวข้าวมาแล้ว นำมาย่ำทั้งกองให้เมล็ดข้าวปากหลุดจากกอง แล้วนำข้าวเปลือกไปตำด้วยครกไม้ หรือตำด้วยกระเดื่อง

ข้าวที่ตำออกมาจะเป็นเม็ดยาวๆ สีดำทั้งเม็ดก็มี สีขาวคล้ำก็มี มองดูข้าวทั้งกองจะเห็นสีขาวสลับดำแปลกตาและสวยดี

ข้าวชนิดนี้ค่อนข้างแข็ง เวลาหุงต้องใช้เวลานานกว่าข้าวซ้อมมือธรรมดา รสชาติหวานปะแล่มๆ และค่อนข้างมัน ผมว่าอร่อยมาก จะกินแบบข้าวสวยกับแกงรสจัดต่างๆ เช่น แกงส้ม หรือแกงป่า แกงเผ็ด จะอร่อยมาก หรือจะกินกับผักน้ำพริก แกล้มด้วยปลาเผาสักนิด ก็อร่อยสุดยอดจริงๆ

เวลาผมได้ข้าวไร่ชาวกะเหรี่ยง หรือข้าวชาวเขามา และบังเอิญบางวันได้กุ้งฝอยตัวเล็กๆ ซึ่งชาวบ้านช้อนมาขายตลาด และมีผักพื้นบ้าน เช่น มะเขือพวง ชะอม หน่อไม้ละก็ วันนั้นจะได้อาหารพิเศษอร่อยสุดยอด เราจะตำน้ำพริกแบบน้ำพริกแกงป่า แล้วนำไปผัดกับข้าวสวย ชาวกะเหรี่ยงใส่ผักทุกอย่างที่หาได้ ใส่กุ้งฝอย และถ้าบังเอิญมีน้ำเต้าหู้อยู่ด้วย เราก็ใส่น้ำเต้าหู้เคี่ยวให้ข้นเหมือนกะทิ ผัดทุกอย่างจนหอม แล้วก็ห่อด้วยใบตองเอาไปปิ้ง

หอมฟุ้งได้กลิ่นแล้วน้ำลายไหลทีเดียวแหละครับ

ใช้ใบตองห่อแบบนี้จะเหมือนกับอาหารพื้นเมือง ที่เขาเรียกกันว่า “แอ๊บ”หอมรสชาติอร่อย และกินอยู่ในบรรยากาศป่าๆ อย่างนั้น วิเศษวิโสจริงๆ ครับ ข้อสำคัญ อาหารมื้อนั้นในด้านของนิวตริชั่น มีประโยชน์ครบถ้วนทุกประการ ถ้าเราจะพิจารณาแต่ข้าวไร่ครบถ้วนทุกประการ หรือข้าวชาวเขาอย่างเดียว จะเห็นว่าเป็นข้าวพันธุ์พิเศษต่างกว่าข้าวธรรมดาที่ชาวบ้านกินกัน นอกจากพันธุ์ต่างกันแล้ว วิธีปลูกก็ต่างกันด้วย ข้าวชาวเขาจะเป็นข้าวปลูกบนดอย ปลูกแบบแห้งๆ ไม่ปลูกแบบดำน้ำ

การปลูกแบบนี้ข้าวจะได้สารอาหาร โดยเฉพาะสารประเภทแร่ธาตุ จากพื้นดินมากกว่าข้าวธรรมดา และถ้าหากพิจารณาจากข้าวดอยนี้อย่างเดียว จะเห็นว่าเป็นข้าวที่มีเนื้อหยาบกว่า และมีกากมากกว่าข้าวธรรมดา (DIET FIBER) และเวลากินก็อิ่มกว่าข้าวธรรมดาด้วย

เรื่องกินข้าวดอยแล้วอิ่มกว่านี่เรื่องจริงนะครับ ทดลองดูได้ คดข้าวกะเหรี่ยงหนึ่งจาน กับข้าวธรรมดาหนึ่งจาน ข้าวธรรมดาต้องคดสองครั้งหรือสองจานจึงอิ่ม แต่ข้าวดอยจานเดียวก็อิ่มแปล้แล้ว

ข้าวดอยอิ่มกว่าและอร่อยกว่า (แต่ต้องหัดกินและหัดสังเกตนะครับ) คนที่กินตอนแรกมักจะบ่นว่า ข้าวแข็งกลืนลำบาก แต่หัดเคี้ยวข้าวนานๆ และเคี้ยวให้ละเอียด ข้าวจะหวานและอร่อยมาก

ทีนี้ก็มาถึงตอนถ่าย (ขอโทษครับ เราพูดเรื่องจริง เรื่องกินแล้วต้องถ่ายอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาอย่างที่สุด) เวลาถ่าย เราจะถ่ายได้หมดท้อง ถ่ายแล้วเบาเนื้อเบาตัวบอกไม่ถูกเลย

ที่เป็นดังนี้เพราะการที่ข้าวมีกากและหยาบมากกว่า ทำให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างดีและสมบูรณ์ กากข้าวดอยนั้น มีทั้งกากที่เป็นไฟเบอร์ และกากที่ช่วยหล่อลื่น อยากดูละเอียดก็ลองเอาข้าวดอยที่หุงสุกแล้วมาบี้ดู จะเห็นว่าข้าวมีแป้งแบบเหนียวๆ และมีกากสากๆ ปนอยู่ด้วย กากสากๆ นั้นเปรียบเหมือนไม้กวาดซึ่งมีประโยชน์มากมาย เวลาเราทำความสะอาดบ้าน และแป้งเหนียวจากข้าวนั้นก็เหมือนกับน้ำมันหล่อลื่น ซึ่งช่วยให้ กากอาหาร ซึ่งเหลือจากการย่อยแล้วลื่นไหลจากลำไส้ได้อย่างสะดวกสบาย

เวลาถ่าย เราจึงถ่ายสบาย ถ่ายหมดท้อง เบาเนื้อเบาตัวบอกไม่ถูกอย่างที่เล่ามาแล้วนั่นแหละครับ

และที่ดีอย่างเหลือเกินถ้ากินข้าวดอยเป็นประจำ ก็แข็งแรงดีจริงๆ พุงพลุ้ยๆหายไปหมด มีแต่กล้าม-เนื้อแข็งแรงและแข็งแกร่งเหมือนหนุ่มๆ เลยครับ

เมื่อสมัยสัก 12-13 ปีมาแล้ว ผมไปบวชหนึ่งพรรษาที่วัดป่าถ้ำหาปล่อง เชียงดาว วัดนั้นอยู่บนดอยสูง อากาศหนาวมาก เวลาที่ผมบวชต้องฉันข้าวมื้อเดียว วันหนึ่งๆ ต้องเดินขึ้นเขาลงเขาวันละหลายๆครั้ง ตอนเช้าขึ้นเขาลงเขาเพื่อไปบิณฑบาต ตอนกลางวันขึ้นลงเพื่อไปช่วยกันทำงานในวัด ไปธุระบ้าง

กินข้าวมื้อเดียว ตอนแรกๆ รู้สึกอาหารจะไม่พอ แต่อยู่ต่อไปก็เคย อยู่สักพักเดียวก็มีคนเอาข้าวดอยมาให้ ขอให้ทางโรงครัวเขาหุงข้าวดอยให้ทุกมื้อ ไม่ช้ากินข้าวมื้อเดียวบางครั้งรู้สึกอิ่มเกินไปด้วยซ้ำ โยม (ประจำตัว) และทางโรงครัวเมตตาทำอาหารชีวจิตมาถวายทุกวัน ได้กินข้าวดอยทุกวัน จึงรู้สึกว่าได้ทั้งอาหารทิพย์และยาวิเศษบำรุงตัว ได้ออกกำลังขึ้นดอยลงดอยทุกวัน ได้ทำสมาธิและปฏิบัติทางจิต ร่างกายแข็งแรงสุขภาพสมบูรณ์ จิตใจสงบ ปราศจากความเครียดและนิวรณ์ทั้งปวง ชีวิตอย่างนั้นเหมือนอยู่สวรรค์

ผมอยู่อย่างนั้นเพียงพรรษาเดียว คือสามเดือนก็ยังเป็นพื้นฐาน ทำให้ร่างกายแข็งแรงมาจนบัดนี้ โดนร้อนโดนหนาว โดนมรสุมชีวิตมากมายก็กลับทนได้ เพราะชีวิตที่อยู่กับข้าวดอย และความเป็นธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไม้เพียง 3 เดือนนี่แหละครับ

หันกลับมาดูชีวิตของคุณจรูญเดช ซึ่งใช้ชีวิตซึ่งคงจะดีกว่าตอนผมเป็นพระอยู่ดอยหลายเท่า เพราะคุณจรูญเดชอยู่อุ้มผางถึง 5 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ก็คือป่าเขาลำเนาไม้ อาหารการกินธรรมชาติ พืชผักตามห้วยลำธาร เห็ดจากป่า กุ้ง ปู ปลาเล็กๆ จากลำธาร ส้มโอสีชมพูเปรี้ยวๆ (ดีกว่าเกรฟ ฟรุ๊ตของฝรั่งหลายเท่า วิตามินซีมากกว่าหลายเท่า) ลูกกะทกรกโตเท่าส้มเขียวหวาน คั้นเอาน้ำดื่มเช้าดื่มเย็น นั่นก็มีทั้งวิตามินซี และมีทั้งเอนไซม์ ช่วยชำระล้างท้องไส้อย่างดี แถมยังอดอาหารเย็น กินกล้วยน้ำว้าแทน

เครียดก็ไม่เครียด ยังได้ออกกำลังกาย เดินขึ้นดอยลงดอยวันละ 8 กม.อีกทุกวัน

เห็นไหมครับ ไม่ต้องสงสัยอะไรเลย ที่คุณจรูญเดชบอกว่า “ปัจจุบันโรคทุกอย่างหายไปหมดเลย” นั้นไม่ต้องแปลกใจเลย ถ้ากินอย่างนี้ ปฏิบัติตัวอย่างนี้ ไม่เครียดอย่างนี้ แล้วคุณจรูญเดชยังป่วยอยู่ละก็ ผมว่าเราเลิกพูดถึงชีวจิตได้เลย

ชีวิตของคุณจรูญเดช เป็นชีวจิตเต็มตัวอยู่แล้ว จะป่วยไปได้อย่างไร?


Copy right(c)2000 by Vacharaphol Co.,Ltd.
Viphavadirangsit Rd. Bangkok 10900 Thailand Tel.(662) 272-1030 Fax. (662) 272-1324

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น