วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552

กินเพื่อชีวิต

ผมเขียนต้นฉบับอาทิตย์นี้ในขณะที่ยังไม่ถึงวันปีใหม่ อีก 2-3 วัน จึงจะถึง แต่บรรยากาศก่อนถึง วันปีใหม่ดูคึกคักมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณ ศูนย์การค้าต่างๆ คนแน่น รถติด ไปไหนไม่สะดวกเอาเสียเลย

ผมบังเอิญมีธุระต้องออกไปติดต่องานระหว่างวันยุ่งๆก่อนปีใหม่นี้ด้วย เรื่องจราจรนั้นไม่ต้องพูดถึง รถมันติดกันจนจะคลั่งถึงขนาดเปิดประตูรถออกไปเดินตามถนนก็น่าจะถึงที่หมายได้เร็วกว่า ก็ไม่ต้องพูดถึงมันละ เรื่องจราจรแบบเส็งเคร็งเช่นนี้

แต่พอถึงเวลาจะกินอาหารนี่สิครับ ไม่พูดถึงไม่ได้แล้ว เพราะต้องแสบท้องอยู่ในรถถึงกว่าครึ่งวัน ถึงเวลากินไม่ได้กินก็หิวแทบจะเป็นลม พยายามไปหาที่กิน ตระเวนไปตามร้านอาหารต่างๆ หาที่ว่างไม่ได้ ร้านบางแห่งที่คนกำลังเห่อกินมากๆ อย่างเช่นร้านอาหารญี่ปุ่นแถวใกล้ๆ สี่แยกรัชดาเป็นต้น คนรอคิวอยู่หน้าร้านราวกับมีมหกรรมปิดถนนสีลมอย่างนั้นแหละ คนในร้านก็แน่น คนรอนอกร้านก็แน่น ผมเองก็ไม่มีทางเลือก ก็ต้องเอาร้านอาหารที่ไหนก็ได้ ที่พอจะมีที่นั่งและตัวเราพอจะเลือก อาหารที่ไม่ติดสูตรชีวจิตมากนัก

แม้ทุกอย่างดูจะออกร้ายๆ ในตอนต้น แต่ตอนปลายก็ดูทำท่าจะดี คือผมมีโอกาสสังเกตดูวิธีการกิน ของคนไทยซึ่งชอบกินอาหารนอกบ้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหน้าเทศกาลใกล้ปีใหม่อย่างนี้ พฤติกรรมการกินของคนไทยเรามีแปลกๆ น่าสนใจ และน่าลองเอามาศึกษาดู

ร้านอาหารที่ผมนั่งอยู่ ในห้องที่เรานั่งเขาเพิ่มโต๊ะพิเศษสำหรับเทศกาลปีใหม่หลายโต๊ะ แต่ละโต๊ะจึงอยู่ติดกันแน่นมาก ร้านทั้งร้านขณะนั้นผมกะดู คร่าวๆเห็นจะมีแขกไม่ตํ่ากว่า 300 คน

เชื่อไหมละครับ กว่า 80% ของผู้มารับประทานอาหารวันนั้น มีโทรศัพท์มือถือ คือวางอยู่ข้างตัวแทบทุกคน และคงจะไม่ตํ่ากว่า 1 ใน 3 คือประมาณ 100 คน กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ท่ามกลางเสียงระเบ็งเซ็งแซ่ ของร้านอาหารนั้น ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า กำลังกินข้าวอยู่แท้ๆ ทำไมถึงมีเรื่องด่วนต้องโทรศัพท์ ถึงกันมากมายขนาดนั้น ลองคิดดูเล่นๆ ว่าเป็นไป ได้ไหมที่จะมีคนปัญญาอ่อนบางคนโทรศัพท์คุยกันเองทั้งๆ ที่นั่งอยู่ด้วยกันในร้านอาหารนั้น (อ้าว อย่านึกว่าเป็นเรื่องเหลวไหลนะครับ เดี๋ยวนี้ใครต่อใคร ชอบทำอะไรแปลกๆ ต่อหน้าสาธารณชน ยิ่งมีคนมากๆ ยิ่งชอบ เพราะทำอะไรแปลกๆ ให้คนหันมามองได้ มันโก้ดี)

ที่โต๊ะไม่ไกลจากผมนั้น มีสาวใหญ่อยู่คนหนึ่ง เธอพูดโทรศัพท์อยู่เกือบชั่วโมง ที่รู้ว่าพูดโทรศัพท์ เกือบชั่วโมง ก็เพราะขณะที่ผมเดินเข้าไปนั่งที่โต๊ะอาหารนั้น เธอพูดโทรศัพท์อยู่ก่อนแล้ว ผมรอกว่าอาหารที่ผมสั่งจะมาถึง ก็ใช้เวลากว่าครึ่งชั่วโมง เพราะฉะนั้นเวลาที่เธอผู้นั้นพูดโทรศัพท์จนกระทั่งเวลาที่อาหารมาถึงมือผม ก็เป็นเวลาเกือบชั่วโมงแน่นอน

ที่เก่งไปยิ่งกว่านั้นก็คือ คุณสาวใหญ่ท่านพูดโทรศัพท์ไปมือก็ตักอาหารเข้าปากไป เคี้ยวอาหารหยับๆ อยู่ได้สองสามทีเธอก็หันไปพูดกับเพื่อนๆ ที่อยู่ข้างๆ

น่าชมเชยความสามารถนะครับ คือพูดโทรศัพท์ไปกินไปและคุยกับเพื่อนไป เธอทำอะไรได้ถึง 3 อย่างพร้อมๆกัน ความสามารถพิเศษจริงๆ เลยนะครับ

แล้วมันเรื่องอะไรของแกล่ะ แน่ะ ผมโดนคำถามหมัดเด็ดเข้ามั่งแล้ว จริงซินะ ใครเขาจะทำอะไรกันบ้าง ดูดีบ้าง ดูบ้าบ้าง ก็ช่างเขาซิ เรื่องอะไรของแกล่ะ อาจจะใช้คำลูกทุ่งแรงๆหน่อยก็ได้ว่า ทำเป็นเอาเสือมายุ่งกับไก่ทำไม อะไรทำนองนั้นนี้แหละเนาะ

ก็ต้องยุ่งแหละครับ เพราะเรื่องของการกินนี่มันเกี่ยวกับงานและหน้าที่ของผมโดยตรงนี่นา (เห็นไหม หาข้อแก้ตัวให้ตัวเองได้อย่างดีเลย) สมัยก่อนที่ผมจะเขียนเรื่องสุขภาพและการเจ็บไข้ได้ป่วย ผมเคยพูดถึงถ้อยคำของท่านปรมาจารย์ ฮิปโปเครติส ซึ่งท่านเป็นปรมาจารย์ของการแพทย์ตั้งแต่สมัย สองพันกว่าปีมาแล้ว มาจนถึงบัดนี้แม้แต่วงการแพทย์แผนปัจจุบันก็ยังถือว่าท่านเป็นบรมครู ของวงการแพทย์อยู่

ถ้อยคำที่สำคัญที่สุดซึ่งท่านวางไว้เป็นรากฐานของตำรับวงการแพทย์ก็คือว่า “YOU ARE WHAT YOU EAT” คือคุณกินอะไรเข้าไปคุณก็เป็นอย่างนั้น ความหมายของท่านก็คือว่า เรื่องอาหารการกินเป็นรากฐาน สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของคุณ ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยนี้ ก็คงจะเหมือนกับการสร้างตึกสูงหรืออาคารใหญ่ ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวอาคารว่าจะสูงเท่าไหร่ จะใหญ่โตเท่าไหร่ หรือราคาจะแพงถึงขนาด พันล้านหมื่นล้าน แต่ความสำคัญของตึกใหญ่หลังนั้น จะอยู่ที่รากฐาน อยู่ที่ตอกเสาเข็ม ลงเข็มเทพื้นวางรากฐาน คุณวางรากฐานตึกของคุณแข็งแรงเพียงใด ตึกของคุณก็คงทนอยู่ได้นานเพียงนั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับชีวิตของคน คุณกินอาหารอะไรเข้าไปอย่างไร มันก็ไปสร้างรากฐานหรือสภาพ ชีวิตของคุณได้อย่างนั้น สุขภาพของคุณก็เป็นไปตามนั้น

และท่านฮิปโปเครติส ยังได้สอนพวกแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์ของท่านต่อไปอีกว่า ถ้าคนไข้มาหาอย่าด่วนเอายา ให้เขากิน แต่จะต้องถามเขาก่อนว่า “เขาไปกินอะไรมา” เพราะท่านฮิปโปเครติส ท่านเชื่อว่าถ้าคุณกินถูก ร่างกายของคุณก็แข็งแรง ถ้าคุณกินผิด คุณก็ป่วย เรื่องง่ายๆ

เมื่อรู้ว่าอาหารการกินเป็นอย่างไรแล้ว ก็มาถึงวิธีกิน หรือพฤติกรรมการกิน สมัยนี้ต้องเรียนกันมาก และเรียนกันหนักเลยครับ เรื่องวิธีกินหรือพฤติกรรมการกินนี่แหละ วิธีกินของเราผิดมากๆสมัยนี้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในยุคของสังคมสมัยใหม่ และเศรษฐกิจยุคฟองสบู่ขณะนี้

เรากินไม่ถูก เรากินเร็วเกินไป เราแทบจะไม่ได้เคี้ยว และแทบจะไม่รู้รสอาหารเลยด้วยซํ้า อย่างในกรณีของ คุณสาวใหญ่คนนั้น พูดโทรศัพท์ไปกินไป และคุยกับเพื่อนๆไป การกินของคุณจะถูกไปได้อย่างไร ผมว่าคุณกินโดยที่คุณไม่ได้เคี้ยวเลยด้วยซํ้า

เมื่อสมัยที่ผมไปร่วมทำงานกับสถาบันอีสท์ เวสท์ ที่อเมริกา เวลาไปร่วมสัมมนากับกลุ่ม แมคโครไบโอติค เวลาเรานั่งกินอาหาร ถ้าหากเราเป็นพวกหน้าใหม่ จะมีคนมานั่งกำกับเราเวลาเรากิน พอคุณตักอาหารใส่ปากคำแรกและเริ่มเคี้ยว ครูเขาก็จะนั่งนับไปเรื่อยๆ 1-2-3-4-5-ฯลฯ

คุณก็จะตกใจ หยุดเคี้ยว ครูเขาก็จะบอกให้เราเคี้ยวต่อไป เขาก็จะนับต่อไปถึง 50 แล้วจึงให้หยุดเคี้ยวจึงกลืนอาหารลงคอไปได้

นั่นเพราะอะไร หลักง่ายๆเขาต้องการให้คุณเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เมื่อเคี้ยวละเอียดแล้วอาหาร จะถูกย่อยจนเกือบหมดตั้งแต่อยู่ในปาก อาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยโดยเอนไซม์ใน ปากกลายเป็นกลูโคส ซึ่งเป็นพลังงานสำหรับสมองและสำหรับส่วนอื่นๆ ของร่างกายด้วย

ฉะนั้น เฉพาะการเคี้ยวให้ถูกอย่างเดียวก็จะทำให้คุณมีแรงพิเศษเหมือนแซมซั่น หรือ เฮอร์คิวลิสตั้งแต่อาหารคำแรกแล้ว

ที่ผมเขียนเรื่องการกินเป็นเรื่องเบาๆตอนปีใหม่นี้ ก็เพราะจะเอาใจคุณผู้อ่านตอนปีใหม่นี้ไว้ก่อน ตอนต่อไปก็เข้าเรื่องเอาจริงเอาจังแล้วละครับ คือจะพูดเรื่องระบบย่อย (DIGEST SYSTEM) และโรคภัยไข้เจ็บเกี่ยวกับอาหารการกินและโรคเกี่ยวกับช่องท้องกันเลยนะครับ

คราวนี้คุณผู้อ่านทำตัวให้สบายๆ วันปีใหม่นะครับ รักษาสุขภาพดีๆหน่อย และสวัสดีปีใหม่ครับ ขอฝากความรัก ความหวังดีและความห่วงเอื้ออาทรมายังท่านผู้อ่านทุกท่าน.

ไทยรัฐ ๖ ม.ค. ๔๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น